หลักการและแนวทฤษฏี

แนวการสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ ( Whole Language Approach )

       เกิดจากหลักการและแนวคิดของนักการศึกษาและนักภาษาศาสตร์ ที่มีชื่อเสียง เช่น ดิวอี้ เปียเจต์ ไวก๊อตสกี้ ฮอลลิเดย์ และ โรเชนแบลดต์ ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาการคิดและภาษาของเด็กในบริบททางสังคมวัฒนธรรม การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็ก ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ตอบสนองธรรมชาติ และเหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย หลักการเหล่านี้เมื่อนำมาเป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการสอนภาษา จะทำให้เด็กมีความสนใจ เกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ภาษาได้ดีขึ้นเพราะสิ่งที่เรียนมีความหมายและไม่เกิดความรู้สึกว่า การเรียนภาษาเป็นเรื่องยากลำบาก (ภรณี คุรุรัตนะ, 2542 : 85 )

        จอห์น   ดิวอี้  กล่าวว่า เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการกระทำ และหลักสูตรควรจะบูรณาการให้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
        จัง  เปียเจต์  กล่าวว่า เด็กเรียนรู้จากกิจกรรมการเคลื่อนไหวของตนเอง การได้สัมผัสกับสิ่งของภายนอก และเด็กจะคิดสร้างความรู้ขึ้นภายในตน หรืออีกนัยหนึ่งเด็กจะต้องเป็นผู้กระทำ ในการเรียนรู้ การคิดดังนั้น การเรียนจึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นการรับเข้าเฉย 
        Goodman ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นผู้บุกเบิกแนวการสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ เชื่อว่า การสอนภาษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตเด็ก และโดยที่เด็กต้องเรียนรู้ภาษาและต้องใช้ภาษาเพื่อการเรียนรู้
        Newman   กล่าวไว้ในหนังสือ Whole Language Theoty in Use ว่าการสอนภาษาไทยแนวการสอนแบบธรรมชาติ มีลักษณะเป็นปรัชญา ( Philosophical Stance ) ความคิดของผู้สอนจะก่อตัวขึ้นจากหลักการสอนที่ผู้สอนนำมาประสานกัน
        Watson  อธิบายว่า ผู้สอนจะประสานแนวการสอนของตนกับองค์ประกอบทางทฤษฏี         ( Thoery )  ความเชื่อ ( Belief ) และการนำความรู้ทางทฤษฏีและความเชื่อไปปฏิบัติจริง ( Practice )องค์ประกอบทั้ง 3 มีความสัมพันธ์สนับสนุนกันเป็นวงจรที่ช่วยให้ผู้สอนเกิดการพัฒนาการสอนด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลจากการสังเกตเด็กเพื่อทำความเข้าใจในความสามารถ และการแสดงออกของเด็กแต่ละคน บันทึกความก้าวหน้าของเด็กเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็กได้อย่างเหมาะสม
การสอนภาษาแบบธรรมชาตินับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก คือ ช่วยให้เด็กมีความสนุกสนานในการเรียนภาษา และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาทางภาษาทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียนอย่างครอบคลุมทุกด้านและเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ครูและผู้ปกครองเกิดความเข้าใจในพัฒนาการทางด้านภาษาด้านการอ่านและการเขียนของเด็กเพิ่มขึ้น