Friday, March 18, 2011

กระบวนการเรียนรู้

บรรยากาศการเรียนภาษาไทยในชั้นเรียน มีลักษณะเป็นการร่วมมือกันระหว่างครูและนักเรียนตั้งแต่การวางแผน ซึ่งจะมีทั้งแผนระยะยาว ( Long – Range Plans ) เพื่อวางกรอบความคิดกว้าง ๆ และแผนระยะสั้น ( Short – Range Plans ) ซึ่งเด็กและครุจะใช้ความคิด พูดคุยปรึกษากันเพื่อหารายละเอียดและขั้นตอนในการทำกิจกรรม
        บทบาทของครูจะเป็นผู้หาวิธีที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เด็กมีอยู่เดิมให้สัมพันธ์กับกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเล่าเรื่องที่เด็กเคยพบเห็น การเปิดโอกาสให้เด็กพูดจากความคิดเห็นหรือประสบการณ์ในขณะฟังเรื่องจากหนังสือที่ครูเลือกมาอ่านให้ฟัง การจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับภาพความคิดและตัวหนังสือ ซึ่งครูไม่จำเป็นต้องสอนให้เด็กอ่านออกเช่น การอ่านแบบเรียน เล่ม 1 เล่ม 2 ที่เคยนิยมใช้แต่เดิม

4.4  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
 4.4.1 ขั้นอ่านเรื่องให้นักเรียนฟัง
     ครูนำหนังสือหรือโคลงกลอนมาอ่านให้นักเรียนฟังโดยเล่าไปตามลำดับเหตุการณ์ หนังสือนี้อาจจะเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับบทเรียนหรือไม่ก็ได้
4.4.2 ขั้นนำเสนอบทเรียน
    ครูนำเสนอบทเรียนในขั้นนำเสนอ โดยนำเสนอเป็นรูป
4.4.3 ขั้นฝึก จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ใช้ภาษาที่ครูนำเสนอ
  4.4.4 ขั้นแสดงภาษาที่ฝึกเป็นผลงาน

ความหมายของการสอนภาษาตามแนวการสอนแบบธรรมชาติ

     เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เสนอแนวคิดใหม่ในการสอนภาษา เกิดจากความพยายามของนักการศึกษาและนักภาษาศาสตร์ ซึ่งมองเห็นการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ซึ่งเกิดจากการสอนที่ครูมุ่งเน้นสาระทางภาษาเป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนไม่น่าสนใจ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คือไม่เหมาะสมกับวัย ความสนใจและความสามารถของเด็ก และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่เด็กจำเป็นต้องใช้ภาษาในการเรียนรู้และการสื่อสารในชีวิตจริง พบว่า การสอนภาษาไทยแบบเดิม ( Traditional Approavhes ) ไม่เน้นความสำคัญของประสบการณ์และภาษาที่ใช้ในชีวิตจริง จึงไม่ได้ให้โอกาสเด็กเรียนรู้ภาษาและใช้ภาษาเพื่อสื่อสารอย่างมีความหมายเท่าที่ควร
              เป็นแนวการสอนที่มีประสิทธิภาพ   เพราะมีความสอดคล้องกับความต้องการในการเรียนรู้และความสนใจของเด็ก (บุษบา  ตันติวงศ์,2538) และเป็นการพัฒนาภาษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป   โดยจะเกิดผลดีในระยะยาว (ฉันทนา  ภาคบงกช, ม.ป.ป.) นอกจากนี้ การสอนภาษาแบบธรรมชาติยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาการรู้หนังสือขั้นตน (Early  Literacy) ให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยหรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ  เป็นการป้องกันความล้มเหลวในระบบการศึกษาอีกด้วย
                กู๊ดแมน ( Goodman, 1986 อ้างถึงใน บังอร   พานทอง 2550 : 70 – 72) กล่าวถึงความหมายของการสอนภาษาแบบธรรมชาติว่าเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการสอนภาษาอย่างมีความหมาย โดยผู้เรียนจะอาศัยประสบการณ์ของตนเองประกอบการเรียน ไม่แบ่งแยกภาษาเป็นส่วนย่อย เป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความกล้าและมั่นใจในตนเองในการที่จะใช้ภาษา ไม่เกรงว่าจะผิด ทั้งนี้เพราะผู้สอนไม่เน้นการลงโทษเมื่อเด็กใช้ภาษาผิด แต่พยายามชี้ให้เห็นข้อบกพร่องโดยทางอ้อม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแก้ไขตนเอง
                พัชรี     ผลโยธิน (2537:196) กล่าวว่า การสอนภาษาแบบธรรมชาติเป็นการสอนที่พยายามจะใช้ภาษาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ การสื่อสารและการคิดโดยไม่พยามยามแยกภาษาเป็นส่วนย่อย แต่เป็นการมองภาษาโดยรวม สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์จริงมาช่วยทำให้ภาษานั้นง่ายต่อการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการพูด การอ่าน การฟัง และการเขียน ถ้าเป็นสิ่งที่มีความหมาย มีประโยชน์หรือเด็กสนใจและต้องการ จะเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับการเรียนภาษา
                มณีรัตน์    สุกโชติรัตน์ (2537:67) กล่าวว่า การสอนภาษาแบบธรรมชาติ เป็นแนวการสอนทักษะทางภาษาสัมพันธ์ที่จัดรวมทักษะทางภาษา คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียนไปด้วยกันอย่างมีระบบ เนื่องจากการเรียนรู้ทักษะทั้งสี่ไปพร้อม ๆ กัน จะช่วยเสริมพัฒนาทักษะซึ่งกันและกัน
                อารี   สัณหฉวี (2544:54) กล่าวว่า การสอนภาษาแบบธรรมชาติ หมายถึง การสอนเด็กให้เรียนรู้ภาษาจากประสบการณ์ที่มีความหมาย โดยเด็กได้รับการสนับสนุนกำลังใจจากผู้ใหญ่ และได้แบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในการพูด ฟัง อ่าน และเขียน ทั้งนี้การเรียนรู้ภาษาจะง่ายและสนุกสำหรับเด็ก ถ้าเด็กเข้าใจ มีประสบการณ์ตรง และได้อภิปรายพูดคุยในบรรยากาศที่อบอุ่นและยอมรับ
                พนิดา   ชาตยาภา (2544:16) ได้กล่าวว่า  การสอนภาษาแบบธรรมชาตินั้น หมายถึง การจัดประสบการณ์ให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนไปพร้อม ๆ กันโดยไม่แยกย่อย ทั้งนี้มุ่งเน้นความสัมพันธ์ของภาษาเพื่อใช้ในการสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นการกระตุ้นและเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ภาษาในหลาย ๆ สถานการณ์ การทำกิจกรรมของเด็กจะถูกเชื่อมโยงเข้าสู่ภาษาอ่าน เขียนที่มีความหมายต่อเด็ก เด็กจะได้แสดงออกถึงความเข้าใจจากประสบการณ์ที่เด็กมี รวมทั้งเปิดโอกาสให้เลือกเล่น หรือทำงานที่เด็กแต่ละคนชอบหรือสนใจ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู เด็กจะพอใจที่เรียนรู้อย่างมีความสุข
                เยาวพา   เดชะคุปต์ (2543:10) ได้กล่าวว่า การสอนภาษาแบบธรรมชาติ หมายถึง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการเรียนรู้ภาษาที่ดีนั้น ต้องใช้ทักษะภาษาทั้ง 4 ด้าน เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แต่ทั้งนี้อัตราการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละบุคคล
                วิไลวรรณ   เกื้อทาน (2540:38) ได้กล่าวว่า การสอนภาษาแบบธรรมชาติ หมายถึง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตประจำวันเด็ก โดยใช้ภาษาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ การสื่อสารและการคิด ให้เด็กพัฒนาทักษะทางภาษา ฟัง พูด อ่านและเขียนไปพร้อม ๆกัน โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
                อำพร   ศรีหรัญ (2540:55) กล่าวว่า การสอนตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ หมายถึง การเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยเน้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางภาษา ฟัง พูด อ่าน และเขียน ไปพร้อม ๆ กัน ไม่แยกเป็นทักษะย่อยยึดผู้เป็นศูนย์กลางและอาศัยประสบการณ์ของผู้เรียน
                มยุรี   กันทะลือ (2543:23) กล่าวว่า การสอนตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ หมายถึง การเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้จากสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตประจำวันของเด็กโดยนำสิ่งที่เขาประสบพบเห็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งหมายถึงภูมิหลังและวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของเด็กแต่ละคนมาใช้เป็นประโยชน์ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และควรให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางภาษาทุก ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง
                สรุปได้ว่า การสอนภาษาแบบธรรมชาติ หมายถึง การจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาจากสิ่งที่มีความหมายในชีวิตประจำวัน โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนภาษา เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ภาษาในการสื่อสาร โดยมีครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาให้เด็กพัฒนาทักษะทางภาษาทั้งในด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียนไปพร้อม ๆ กัน ปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกทำในสิ่งที่สนใจ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูในบรรยากาศที่อบอุ่นและยอมรับ